1. เพื่อให้นักเรียนสามารถสำรวจ สืบค้นข้อมูล และวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้ที่ดิน ของเกษตรกรในท้องถิ่นของประเทศไทย
2. เพื่อให้นักเรียนสามารถเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา และการจัดการที่ดิน การใช้ที่ดินของเกษตรกรที่ถูกต้อง ตามหลักวิชาการเกษตร
1. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาสถานการณ์การใช้ที่ดินของเกษตรกรในท้องถิ่น และในประเทศไทยที่มีปัญหากลุ่มละ 1 เรื่อง
2. ให้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของสถานการณ์ดังกล่าว
3. ช่วยกันเสนอแนะ และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วบันทึกผล
4. ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนอภิปรายผลการวิเคราะห์ร่วมกัน
5. ร่วมกันสรุปผล
ผลการทดลองที่ได้
ภาพแสดงปริมาณการนำเข้าปุ๋ยชนิดต่างๆ ใน พ.ศ. 2534 - 2541
จากภาพพบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2534-2541 เกษตรกรมีการนำเข้าปุ๋ย N Pและ K ปริมาณมาก และหลังจากนั้นปริมาณการนำเข้าปุ๋ย N มีแนวโน้มค่อนข้างจะคงที่ ส่วนปุ๋ย P และ K มีแนวโน้มนำเข้าไม่คงที่แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักสาเหตุที่มีการนำเข้าปุ๋ย N ค่อนข้างคงที่ แสดงว่าเกษตรกรมีความต้องการเพิ่มผลผลิตพืชประเภทที่ให้ใบมาก เช่น พวกผักต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาหารหลักของมนุษย์ ส่วน P และ K มีความแปรผันตามประเภทการผลิตพืชที่ให้ดอกและพืชที่ให้ผลตามความนิยมในท้องตลาด เป็นต้น
ภาพปริมาณการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรปี พ.ศ. 2534 - 2540
1. การนำสารเคมีทางการเกษตรในปี พ.ศ. 2534-2540 มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงดังนี้
1. สารกำจัดแมลงมีปริมาณการนำเข้าค่อนข้างคงที่ช่วงปี พ.ศ. 2534-2537 และใน ปี พ.ศ. 2538-2539 ปริมาณการนำเข้า เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และพบว่าในปี พ.ศ. 2540 ปริมาณการนำเข้าลดลง
2. สารกำจัดวัชพืชมีปริมาณการนำเข้าค่อนข้างคงที่ในช่วง 4 ปีแรก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2538-2539 และลดลงในปี พ.ศ. 2540
3. สารกำจัดเชื้อราและแบคทีเรียในช่วงปี พ.ศ. 2534-2540 ปริมาณการนำเข้าค่อนข้างคงที่
4. สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช พบว่ามีปริมาณการนำเข้าค่อนข้างคงที่ตลอด
อาจสรุปได้ว่า ปริมาณการนำเข้าของสารกำจัดวัชพืชมีปริมาณมากที่สุด รองลงมาคือสารกำจัดแมลง และสารกำจัดเชื้อรา ตามลำดับ ส่วนสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชมีการนำเข้าเพื่อการใช้ค่อนข้างน้อยมาก
การใช้สารเคมีทางการเกษตรของเกษตรกรส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ต่าง ๆ การใช้ถ้าหากใช้ใน ปริมาณมากและใช้เป็นประจำทุกวันย่อมมีสารเคมีตกค้างลงในดิน สารเคมีบางชนิดมีการสลายตัวได้เร็วในธรรมชาติ แต่บางชนิดมีฤทธิ์ตกค้างเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดินคือ ทำให้สมบัติของดินบางประการอาจเปลี่ยนไป เช่น ความเป็นกรด-เบส นอกจากนี้อาจทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดินตายได้ ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีส่วนช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่อยู่ในดินและช่วยในการพรวนดิน ทำให้ดินมีช่องว่างระหว่างอนุภาคของดินและทำให้อากาศแทรกเข้าไปได้ สำหรับพืชที่ปลูกจะได้รับการสะสมสารเคมีที่ตกค้างในดินเหล่านี้ และเมื่อสัตว์หรือคนรับประทานเข้าไปก็จะมีการสะสมสารพิษ และถ่ายทอดไปตามโซ่อาหารได้
การถ่ายทอดสารพิษและสารเคมีไปตามโซ่อาหารและสายใยอาหาร เริ่มต้นจากผู้ผลิตซึ่งดูดธาตุอาหารจากดินไปใช้ ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง สารพิษเหล่านี้ ก็จะสะสมอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ดอก ผล ราก และลำต้น เป็นต้นเมื่อผู้บริโภคลำดับที่ 1 มาบริโภคส่วนต่าง ๆ ของพืชสารพิษก็จะถ่ายทอดไปสู่ผู้บริโภคนั้นและสะสมตามชั้นไขมันในผู้บริโภคลำดับที่ 1 เมื่อผู้บริโภคลำดับถัดไปมากินต่อกันอีกเป็นทอด ๆ สารพิษก็จะถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภค เช่นกันโดยพบว่าปริมาณสารพิษที่สะสม นี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับขั้นในโซ่อาหารหรือสายใยอาหาร
ผลดีจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร
1. สามารถใช้ปราบศัตรูพืชและสัตว์ เช่น ยาฆ่าแมลงต่าง ๆ หรือยากำจัดวัชพืช
2. ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมีต่าง ๆ
3. ช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน เช่น เติมยิปซัมแก้ดินเค็ม เติมปูนขาวหรือดินมาร์ลแก้ดินเปรี้ยวเติมแคลเซียม และแมกนีเซียม ทำให้สมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น เติม N P K ให้พอดีทำให้แบคทีเรียในดินทำงานดีขึ้น ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์
ผลเสียจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร
1. ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม เช่น ตกค้างในดิน แหล่งน้ำ และอากาศซึ่งมีผลต่อสุขภาพร่างกาย และเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
2. ทำให้สมบัติของดินเปลี่ยนไป โดยการใช้ปุ๋ยชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นปริมาณมาก และใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ เช่น ค่า pH เปลี่ยนไปดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น
3. ทำให้ศัตรูพืชและสัตว์เกิดการดื้อยา อาจเกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น
วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว และดินเค็ม
ดินเปรี้ยว เป็นดินที่มีความเป็นกรดมาก มีค่า pH ต่ำกว่า 4.5 ซึ่งเกิดจากมีแร่ธาตุ ที่สลายตัวแล้วให้กรดในปริมาณมาก เช่น แร่ไพไรท์ (FeS2) หรือแร่กำมะถันอื่น ๆ พบได้ทางภาคกลางและบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เช่น พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี นครปฐม ชลบุรี และจันทบุรี โดยเฉพาะรังสิต จ. ปทุมธานี และองครักษ์ จ. นครนายก พื้นดินมีความเป็นกรดจัดค่า pH ต่ำกว่า 4
วิธีแก้ไขดินเป็นกรด ที่นิยมกันมากคือการใช้ปูนมาร์ล ซึ่งเป็นปูนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแคลเซียมคาร์บอเนต ปูนมาร์ลจะช่วยแก้ความเป็นกรดในดินได้ดี มีผลทำให้ดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ไม่แน่นทึบ
ดินเค็ม ประเทศไทยมีอยู่ 2 พื้นที่สำคัญคือ ดินเค็มบริเวณชายทะเล และที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุเนื่องจากมีการสลายตัวของดินและหินที่มีเกลืออยู่ด้วย ทำให้ดินมีปริมาณเกลือสะสมมากกว่าปกติ
วิธีแก้ไข อาจทำได้โดยอาศัยกระบวนการชะล้างด้วยน้ำจืด ชะพาเอาเกลือออกไปจากหน้าดิน หรือใช้สารประกอบยิปซัม (CaSO4 . 2H2O) เข้าช่วยปรับปรุงฟื้นฟู และต้อง พยายามให้ดินชื้นอยู่เสมอ เพื่อมิให้น้ำใต้ดินถูกดึงขึ้นมาที่ผิวหน้าดิน เพราะจะทำให้ เกลือถูกดึงขึ้นมาตามผิวดินด้วย นอกจากนี้อาจปลูกไม้ยืนต้นที่ทนเค็ม ทนแล้ง โตเร็วรากลึกและใช้น้ำมาก ได้แก่ ต้นยูคาลิปตัส กระถิน สะเดา แคบ้าน มะขาม
ปัญหาอื่น ๆ ได้แก่
1. ดินที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อน เป็นดินที่เกิดจากการสลายตัวของแร่ที่มีส่วนผสมของแร่ยูเรเนียม ทอเรียม เรเดียม หรือเกิดจากการทิ้งกากกัมมันตรังสีลงในดินทำให้เกิดการปนเปื้อน ฯลฯ
2. ดินที่มีการผสมของโลหะหนัก มักเกิดจากการสลายตัวของโลหะหนักของหินที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดที่มีสารประกอบพวกปรอท แคดเมียม ตะกั่ว โครเมียม สังกะสี ฯลฯ
3. การใช้ที่ดินผิดประเภท เช่น นำที่ดินเกษตรกรรมมาสร้างบ้านจัดสรร สร้างโรงงานอุตสาหกรรม ทำนากุ้ง เป็นต้น
การอนุรักษ์ดินเป็นการใช้ประโยชน์จากดินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นการจัดการและแก้ปัญหามลพิษของดิน และการเสื่อมโทรมของดิน ซึ่งพบว่าอุปสรรคสำคัญในการอนุรักษ์ดิน เช่น
1. การใช้ดินไม่ถูกหลักวิชาการ เช่น การปลูกพืชซ้ำชนิดเดียว การใช้สารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชและสัตว์ การเผาหน้าดิน
2. การทิ้งของเสียจากแหล่งชุมชน จากโรงงานอุตสาหกรรม จากแหล่งประกอบการต่างๆทำให้สมบัติของดินเปลี่ยนแปลงไป
3. การตัดต้นไม้ทำลายป่า มีผลทำให้เกิดความเสียหายกับดินได้ เนื่องจากผิวหน้าดินปราศจากพืชปกคลุม หรือไม่มีรากพืชยึดเหนี่ยวเมื่อฝนตกหรือมีลมพายุจะทำให้หน้าดินพังทลายและสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ได้โดยง่าย
สรุปได้ว่า
มลพิษทางดินและปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน เนื่องจากมนุษย์ดำเนินกิจกรรมต่างๆ อยู่บนพื้นดิน จึงทำให้ดินเกิดการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ยิ่งประชากรมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเท่าใด ปัญหาที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรดินก็มีมากขึ้นจนทำให้เกิดมลพิษทางดิน ( Soil pollution)
|