<< Go Back

ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากในการมองเห็น ประกอบด้วยโครงสร้างดังนี้
1. กระจก ตา (Cornea) หรือตาดำ เป็นส่วนที่อยู่หน้าสุดของลูกตา มีลักษณะโค้งคล้ายจาน เรียบใส ไม่มีสี ทำหน้าที่โฟกัสหักเหแสงจากวัตถุให้เข้าในลูกตา
2. เลนส์ แก้วตา (Lens) มีลักษณะใสอยู่หลังม่านตา ทำหน้าที่โฟกัสหักเหแสงเพิ่มขึ้นต่อจากกระจกตา เพื่อให้แสงตกกระทบบนจุดรับภาพของจอประสาทตา
3. ม่าน ตา (Iris) มีหลายสีตามเชื้อชาติ ทำหน้าที่หดขยาย ก่อให้เกิดรูม่านตา ที่มีขนาดต่างกัน เพื่อช่วยในการควบคุมปริมาณแสงที่จะเข้าตาให้พอดี
4. น้ำวุ้นตา (Vitreous body) มีลักษณะคล้ายเจล อยู่ในช่องด้านหลังลูกตา ทำหน้าที่คงรูปของลูกตาเอาไว้
5. จอประสาทตา (Retina) ประกอบด้วยเซลล์ที่รับแสงและเซลล์ประสาท ทำหน้าที่รับภาพเหมือนฟิล์มถ่ายรูป อยู่บนผนังด้านในของลูกตา
6. ตาขาว (Sclera) เป็นเสมือนเปลือกนอกของลูกตา ต่อกับกระจกตา ทำหน้าที่เป็นผนังโครงสร้างของลูกตา
การมองเห็นที่เป็นปกติ จะเริ่มต้นจากแสงที่ตกกระทบวัตถุ วิ่งผ่านกระจกตา เลนส์แก้วตา ให้ตกพอดีบนจุดรับภาพ ของจอประสาทตา (Macula) จากนั้นจอประสาทตา จะส่งสัญญาณในรูปของคลื่นไฟฟ้า ไปยังเส้นประสาทตาและไปสู่สมอง เพื่อแปลภาพต่อไป การมองเห็นจะคมชัด แสงที่ผ่านเข้าลูกตา จะต้องตกกระทบ บนจุดรับภาพของจอประสาทตาอย่างพอดี มิฉะนั้น จะทำให้เกิดภาวะสายตาผิดปกติได้

กระจกตา(Cornea)
เป็นส่วนของตาดำ บางคนเปรียบเปรยว่าเป็นหน้าต่างของดวงตา เพราะตามปกติกระจกตาจะมีความใส และทำให้เกิดการหักเหของแสงมากที่สุด กระจกตาประกอบด้วยเนื้อเยื่อทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นบนที่สุดเรียกว่า epithelium เป็นปราการด่านแรกที่ ปกป้องดวงตาจากการได้รับอันตราย ซึ่งชั้น epithelium นี้เป็นชั้นที่มีเซลล์ที่มีความสามารถในการแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถแบ่งตัวมาคลุมกระจกตาได้หมดภายใน 3 วัน ทำให้การหายของแผลเกิดได้อย่างรวดเร็วหลังการเกิดแผลที่กระจกตาขึ้น ในส่วนของเซลล์ชั้นกลางซึ่งเป็นชั้นที่หนาที่สุดของกระจกตาจะเสริมสร้างความแข็งแรงให้ดวงตา ซึ่งการทำเลสิกจะทำในชั้นนี้ ของกระจกตา
ม่านตา(Iris)
เป็นส่วนที่มีสีซึ่งแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ บ้างเป็นสีเขียว บ้างเป็นสีฟ้า สีน้ำตาล หรือสีดำ หน้าที่ของม่านตาคือช่วยในการควบคุมขนาดของรูม่านตา โดยการหดตัวหรือขยายตัวของกล้ามเนื้อม่านตา
เลนส์แก้วตา(Lens)
เป็นส่วนที่ใสอยู่หลังม่านตา หน้าที่ของเลนส์แก้วตาคือช่วยโฟกัสเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจนมากขึ้นสำหรับการอ่านหรือการมองระยะใกล้ โดยการปรับรูปร่างของเลนส์ให้เหมาะสม ในคนที่มีอายุประมาณ 40-50 ปี ความสามารถในการปรับตัวส่วนนี้จะลดลง ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “สายตายาวตามอายุ” (Presbyopia) และในช่วงอายุประมาณ 60-70 ปีเลนส์แก้วตาจะมีลักษณะขุ่นและแข็งขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมีซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่า “ต้อกระจก” ส่งผลให้แสงหักเหเข้าตาได้ยากขึ้น
รูม่านตา(Pupil)
เป็นรูกลม ๆ ที่เห็นในดวงตา มีหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านเข้าสู่ลูกตา เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงจ้า ม่านตาจะหดทำให้แสงเข้าตาได้น้อยลง ส่วนในที่มืดม่านตาจะขยายเพื่อให้แสงเข้าตาได้มากขึ้น
น้ำวุ้นตา(Vitreous)
น้ำวุ้นตาลักษณะคล้ายเจลอยู่ด้านในช่องหลังลูกตา ทำหน้าที่ให้ลูกตาคงรูปลักษณะกลมตลอดเวลา ในผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ๆ บางครั้งอาจสังเกตเห็นว่ามีจุดดำหรือใยสีดำลอยไปมาในน้ำวุ้นตา ซึ่งเกิดจากการที่น้ำวุ้นตาเสื่อมนั่นเอง
เส้นประสาท(Optic Nerve)
เป็นตัวส่งผ่านการกระตุ้นของการมองเห็นจากจอประสาทตามายังสมอง
จอประสาทตา(Retina) จอประสาทตาประกอบด้วยเส้นประสาทตาที่มีความละเอียดสูงอยู่ในผนังชั้นในของลูกตา ทำหน้าที่คล้ายกับฟิล์มถ่ายรูปโดยจะส่งผ่านรูปไปยังสมอง ซึ่งในภาวะสายตาปกติ การหักเหของแสงจะลงมาตกกระทบที่จอประสาทตาพอดี


 

http://www.metta.go.th/knowledge/knoweye/eyevdo/96-eyecare4
http://www.laservisionthai.com/health-corner/องค์ประกอบของตา-anatomy-eye

    << Go Back