อหิวาตกโรค (Cholera) คือโรคท้องร่วงรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ โคเลอรี (Vibrio Cholerae) ภายในลำไส้ ซึ่งผู้ป่วยได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้ ผู้ที่ได้รับเชื้อมักปรากฏอาการของโรคในระดับอ่อน และบางครั้งก็รุนแรงได้ โดยประมาณ 1 ใน 10 หรือคิดเป็นร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วย จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ถ่ายเหลวเป็นน้ำมาก อาเจียน ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วและนำไปสู่ภาวะขาดน้ำและช็อคได้ หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมง
อหิวาตกโรคเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่การจัดการด้านสุขาภิบาลไม่ดี ประสบภาวะสงครามบ่อย และอดอยากอาหาร องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ทำการศึกษาในแต่ละปีและพบว่ามีผู้ป่วยอหิวาตกโรคปีละ 1.3-4.0 ล้านราย และมีผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้รวมทั่วโลกแล้วปีละ 21,000-143,000 ราย สำหรับสถานการณ์อหิวาตกโรคในประเทศไทยนั้น สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้อ้างข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ซึ่งพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-11 ตุลาคม 2558 พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้จำนวน 10 ราย จาก 8 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 0.02 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือช่วงอายุ 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 30 และภาคที่มีอัตราการป่วยสูงสุด คือภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 0.03 ต่อแสนประชากร
อาการของอหิวาตกโรค
อหิวาตกโรคถือเป็นโรคที่มีเชื้อแบคทีเรียร้ายแรง ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรงได้ ผู้ที่บริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อวิบริโอ โคเลอรี เข้าไปนั้น จะแสดงอาการของโรคภายใน 12 ชั่วโมง ถึง 5 วันหลังจากที่ลำไส้ได้ดูดซึมอาหารหรือน้ำปนเปื้อนที่บริโภคเข้าไป อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ โคเลอรี จะไม่ปรากฏอาการป่วยเป็นไข้หรืออาการอื่น เพราะเชื้อแบคทีเรียจะอยู่เฉพาะในอุจจาระเท่านั้น โดยเชื้อจะอยู่ในอุจจาระประมาณ 7-14 วันแล้วหายไปอยู่ตามสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายคนอื่นต่อไป สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อและเกิดอาการของโรค ส่วนใหญ่แล้วมักปรากฏอาการของโรคในระดับอ่อนไปถึงค่อนข้างรุนแรง และมีส่วนน้อยที่เกิดอาการในระดับรุนแรง
ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะเกิดอาการของโรคดังต่อไปนี้
- ท้องร่วง อาการท้องร่วงที่เกิดจากการติดเชื้ออหิวาต์นั้นจะเกิดขึ้นทันทีและอาจก่อให้เกิดการสูญเสียของเหลวในร่างกายซึ่งถือว่าอันตราย ผู้ป่วยอาจสูญเสียน้ำในร่างกายถึง 1 ลิตรภายใน 1 ชั่วโมง ลักษณะของอุจจาระจะเหมือนน้ำซาวข้าว โดยภายในอุจจาระมีเกล็ดสีขาวซึ่งเป็นเมือกหรือเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารขนาดเท่าเม็ดข้าว และอาจมีกลิ่นเหม็นคาว
- คลื่นไส้และอาเจียน ผู้ป่วยอาจเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนอยู่หลายชั่วโมง ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงแรกตามอาการของโรค
- ประสบภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยสามารถเกิดอาการขาดน้ำได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการของโรค โดยอาการขาดน้ำนี้จะรุนแรงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยสูญเสียของเหลวในร่างกายไปมากน้อยเท่าไหร่ หากผู้ป่วยสูญเสียน้ำในร่างกายไป 10 เปอร์เซ็นต์หรือมากกกว่านั้นของน้ำหนักตัว ก็สามารถเกิดอาการขาดน้ำในขั้นรุนแรงได้
อาการอื่น ๆ ของโรคยังรวมไปถึงหงุดหงิดง่าย เซื่องซึม ตาโหล ริมฝีปากแห้ง กระหายน้ำมาก ผิวเหี่ยวและแห้ง ปัสสาวะน้อยมาก ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ ร่างกายอาจสูญเสียเกลือแร่ของเลือด (Electrolytes) อย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำ ซึ่งเรียกว่า ภาวะไม่สมดุลอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte Imbalance) ภาวะนี้ก่อให้เกิดอาการ ดังนี้
- เป็นตะคริว (Muscle Cramps) ผู้ป่วยเป็นตะคริว เนื่องจากร่างกายเกิดการสูญเสียเกลืออย่างกะทันหัน เช่น โซเดียมคลอไรด์ หรือโพแทสเซียม
- เกิดอาการช็อค อาการช็อคนับเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนจากอาการขาดน้ำที่รุนแรงที่สุด เมื่อปริมาตรของเลือด (Blood Volume) ในร่างกายต่ำลง ย่อมส่งผลให้ความดันเลือดและจำนวนออกซิเจนในร่างกายต่ำลงด้วย หากไม่ได้รับการรักษาสามารถเกิดภาวะช็อคจากการขาดน้ำ (Hypovolemic Shock) ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ในเวลารวดเร็ว
นอกจากนี้ เด็กที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรคนอกจากจะแสดงอาการเหมือนผู้ใหญ่ตามที่กล่าวไปแล้ว ยังปรากฏภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) จากการสูญเสียน้ำในร่างกายและรับประทานอาหารไม่ได้ ซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจะก่อให้เกิดอาการซึมลง ชัก และหมดสติ
สาเหตุของอหิวาตกโรค
อหิวาตกโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า วิบริโอ โคเลอรี (Vibrio Cholerae) โดยแบคทีเรียจะผลิตสารชีวพิษซิกัวทอกซิน (Ciguatoxin: CTX) ขึ้นในลำไส้เล็ก สารชีวพิษนี้จะเกาะที่ผนังลำไส้และรวมกับโซเดียมหรือคลอไรด์ที่ไหลผ่านลำไส้ และเกิดการกระตุ้นร่างกายให้ขับน้ำออกจากตัว จนนำไปสู่อาการท้องร่วง รวมทั้งการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในเลือดอย่างกะทันหัน
แบคทีเรียวิบริโอ โคเลอรี หรือเชื้ออหิวาต์ มักพบในอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลหรืออุจจาระของคนซึ่งมีเชื้อนี้อยู่ในนั้น แหล่งที่สามารถพบการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคจึงมักมาจากน้ำ อาหารบางชนิด อาหารทะเล ผักผลไม้สด และธัญพืชต่าง ๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- แหล่งน้ำ เชื้ออหิวาต์สามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้เป็นระยะเวลานาน โดยแหล่งน้ำสาธารณะที่ได้รับการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ถือเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคชั้นดี ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและปราศจากการจัดการด้านสุขาภิบาลที่ดีอย่างเพียงพอจึงเสี่ยงป่วยเป็นอหิวาตกโรคได้
- อาหารทะเล การรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่ได้ปรุงสุก โดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอย ซึ่งเกิดในแหล่งน้ำที่น้ำปนเปื้อนสารพิษนั้น จะทำให้ร่างกายได้รับเชื้ออหิวาต์
- ผักและผลไม้สด พื้นที่ที่อหิวาตกโรคระบาดในท้องถิ่นนั้น ผักและผลไม้สดที่ไม่ได้ปอกเปลือกมักเป็นแหล่งเพาะเชื้ออหิวาต์ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการใช้ปุ๋ยคอกที่ไม่ได้หมักหรือแหล่งน้ำเน่า ผลิตผลที่ปลูกอาจปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์ได้
- ธัญพืชต่าง ๆ สำหรับพื้นที่ที่อหิวาตกโรคระบาดนั้น การปรุงอาหารด้วยธัญพืชอย่างข้าวหรือข้าวฟ่างอาจได้รับเชื้ออหิวาต์ปนเปื้อนหลังจากปรุงเสร็จ และเชื้อจะอยู่ในอาหารอีกหลายชั่วโมงที่อุณหภูมิระดับห้อง โดยเชื้อที่ยังคงอยู่จะกลายเป็นพาหะทำให้เกิดการเจริญเติบโตของของเชื้ออหิวาต์
อหิวาตกโรคสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่อาจมีข้อยกเว้นบางกรณี โดยแม่ที่ให้นมลูกด้วยตัวเองและเคยป่วยเป็นอหิวาตกโรคมาก่อนนั้น จะทำให้ทารกไม่ติดเชื้ออหิวาต์เนื่องจากได้รับภูมิคุ้มกันมาจากแม่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นให้ร่างกายติดเชื้ออหิวาต์ได้ง่ายขึ้นและเสี่ยงที่จะเกิดอาการอย่างรุนแรง ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวประกอบด้วย
- การจัดการสุขาภิบาลไม่ดี เนื่องจากอหิวาตกโรคจะเกิดการติดเชื้อและแพร่ระบาดผ่านทางน้ำ หากพื้นที่ใดมีการจัดการระบบสุขาภิบาลไม่ดี จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย โดยพื้นที่ที่มักประสบภาวะการจัดการสุขาภิบาลไม่ดีมักเกิดขึ้นในค่ายลี้ภัย ประเทศหรือพื้นที่ที่ประสบภาวะอดอยาก ขาดแคลนอาหาร เกิดสงคราม หรือประสบภัยทางธรรมชาติ
- ภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร (Hypochlorhydria/Chlorhydria) เชื้ออหิวาต์ไม่สามารถอยู่ได้ในภาวะที่มีกรด ทั้งนี้ กรดในกระเพาะอาหารของคนเราถือเป็นด่านปราการชั้นแรกที่ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ แต่สำหรับผู้ที่มีกรดในกระเพาะอาหารต่ำ อย่างเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ใช้ยาลดกรดหรือยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จะไม่มีกรดมาป้องกันเชื้ออหิวาต์ จึงเสี่ยงเป็นอหิวาตกโรคได้สูง
- การอยู่ร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรค ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรคมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้
- การรับประทานอาหารทะเลดิบหรือปรุงไม่สุก การรับประทานอาหารทะเลจำพวกหอยที่ดิบหรือปรุงไม่สุกจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอหิวาตกโรคได้มากขึ้น
การวินิจฉัยอหิวาตกโรค
การวินิจฉัยอหิวาตกโรคถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะอหิวาตกโรคเป็นโรคที่มีการระบาดได้ง่ายและรุนแรงทั้งนี้ การวินิจฉัยอหิวาตกโรคจะช่วยให้สามารถระบุสาเหตุของอาการท้องร่วงที่เกิดจากอหิวาตกโรคออกจากอาการท้องร่วงอื่นที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียอื่น โปรโตซัว หรือไวรัสได้ชัดเจนขึ้น วิธีวินิจฉัยอหิวาตกโรคประกอบด้วย การตรวจตัวอย่างอุจาจาระผู้ป่วย เทคนิคพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction) และการตรวจด้วยแถบตรวจอหิวาตกโรค โดยแต่ละวิธีมีรายละเอียด ดังนี้
- การตรวจตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วย การตรวจตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วยคือวิธีวินิจฉัยโรคที่ช่วยแยกและหาเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ โคเลอรีในอุจจาระของผู้ป่วย โดยจะส่องหาเชื้อผ่านกล้องจุลทรรศน์ เชื้อแบคทีเรียจะมีรูปร่างคล้ายเครื่องหมายจุลภาค (Comma) และเคลื่อนที่ไปมา การตรวจตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วยนับเป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยอหิวาตกโรค
- เทคนิคพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction: PCR) เทคนิคนี้คือการสังเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอในหลอดทดลอง ซึ่งถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาตรวจชื้ออหิวาต์ด้วย อย่างไรก็ตาม เทคนิคพีซีอาร์ยังไม่ได้นำมาใช้ในฐานะการตรวจแอนติบอดี้ในเลือดอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนัก
- การตรวจด้วยแถบตรวจอหิวาตกโรค วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่สามารถเข้ารับการวินิจฉัยด้วยวิธีตรวจตัวอย่างอุจจาระได้ โดยผู้ป่วยจะทราบผลการวินิจฉัยได้ก่อนจากแถบตรวจดังกล่าว ทำให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคในพื้นที่ที่เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคและนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือ จากกลุ่มสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดของโรคต่อไป อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยแถบวัดนี้อาจไม่แม่นยำเสียทีเดียว วิธีวินิจฉัยที่เที่ยงตรงที่สุดคือการตรวจตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วย ซึ่งทำการตรวจในห้องทดลองด้วยผู้เชี่ยวชาญ
การรักษาอหิวาตกโรค
ผู้ป่วยอหิวาตกโรคควรได้รับการรักษาทันที เพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงจากภาวะขาดน้ำ
ที่เกิดขึ้นกะทันหัน โดยวิธีรักษาอหิวาตกโรคประกอบด้วยการให้รับประทานน้ำเกลือแร่ การให้สารน้ำทดแทน (Intravenous Fluids) การใช้ยาปฏิชีวนะ และการให้แร่ธาตุสังกะสี ซึ่งวิธีการรักษาแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้
- การให้รับประทานน้ำเกลือแร่ วิธีนี้จะช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำและเกลือแร่ในเลือดทดแทนจากที่เสียไป โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานผงละลายเกลือแร่ (Oral Dehydration Salt: ORS) ที่ผสมในน้ำต้มสุก พบว่าผู้ป่วยที่เกิดภาวะขาดน้ำและไม่ได้รับการรักษาด้วยการรับประทานน้ำเกลือแร่ประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิต ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์เมื่อได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้
- การให้สารน้ำทดแทน (Intravenouse Fluids) ในกรณีที่เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่มาก หรือไม่สามารถรับประทานน้ำเกลือแร่ได้เพียงพอ จำเป็นต้องให้สารน้ำทางน้ำเกลือเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ รวมทั้งรักษาภาวะช็อคจากการขาดน้ำเฉียบพลันด้วย
- การใช้ยาปฏิชีวนะ แม้ว่ายาปฏิชีวนะจะไม่จำเป็นในการรักษาอหิวาตกโรค แต่ตัวยาบางตัวก็อาจลดจำนวนและระยะเวลาของอาการท้องร่วงอันเนื่องมาจากเชื้ออหิวาต์ได้ โดยยาจำนวนหนึ่งตัวยาอาจให้ประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องร่วงได้ดี เช่น ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) หรือยาอะซีโธรมัยซิน (Azithromycin)
- การให้แร่ธาตุสังกะสี ได้ปรากฏงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าธาตุสังกะสีอาจลดและย่นระยะเวลาของอาการท้องร่วงที่เกิดจากอหิวาตกโรคในเด็กได้
ภาวะแทรกซ้อนของอหิวาตกโรค
อหิวาตกโรคเป็นโรคที่อันตราย สามารถทำให้เสียชีวิตได้ทันที กรณีที่รุนแรงที่สุด คือการที่ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในเลือด ซึ่งผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง ส่วนในกรณีที่รุนแรงน้อยลงมานั้น พบว่าผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตเพราะภาวะขาดน้ำและอาการช็อค ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายไม่กี่ไม่ชั่วโมงหรือหลายวันหลังจากที่ปรากฏอาการของโรคแล้ว
นอกจากภาวะขาดน้ำและอาการช็อคจะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุดแล้ว ยังปรากฏภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ในผู้ป่วยอหิวาตกโรคร่วมด้วย ดังนี้
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) กลูโคสหรือน้ำตาลนับเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดต่ำลงถือว่าเป็นภาวะที่อันตราย จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยป่วยจนกินอาหารไม่ได้ เด็กที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรคมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ โดยเด็กจะเกิดอาการชัก ไม่ได้สติ และถึงขั้นเสียชีวิต
- ภาวะเกลือโพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia) ผู้ป่วยอหิวาตกโรคมักสูญเสียเกลือแร่ซึ่งรวมถึงโพแทสเซียมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากร่างกายเกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง โดยภาวะโพแทสเซียมต่ำที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและเส้นประสาทถือว่าเป็นอันตรายต่อชีวิต
- ไตวาย เมื่อไตสูญเสียประสิทธิภาพในการกรองของเสียและน้ำจำนวนมากในร่างกาย เกลือแร่ในเลือดและของเสียต่าง ๆ ก็จะสะสมตกค้างอยู่ในตัวผู้ป่วย ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อชีวิต ผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่เกิดภาวะไตวายมักมีอาการช็อคร่วมด้วย
การป้องกันอหิวาตกโรค
เมื่อเกิดการระบาดหรือต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของอหิวาตกโรค สามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ล้างมือให้สะอาด ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร โดยถูสบู่ที่มืออย่างน้อย 15 วินาทีก่อนล้างออกด้วยน้ำสะอาด ทั้งนี้ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมแอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดมือแทนได้ในกรณีพื้นที่ที่เดินทางไปนั้นขาดแคลนน้ำและไม่มีสบู่
- ดื่มน้ำต้มสุกและสะอาด น้ำดื่มควรเป็นน้ำต้มสุกที่ต้มเอง โดยต้มน้ำให้เดือดประมาณ 1 นาที นอกจากนี้ควรใช้น้ำต้มสุกในการล้างผักผลไม้ แปรงฟัน หรือล้างหน้าล้างมือด้วย หากต้องการดื่มเครื่องดื่ม ควรดื่มเครื่องดื่มร้อน ซึ่งดื่มได้ทั้งเครื่องดื่มที่บรรจุกระป๋องหรือบรรจุขวด โดยต้องเช็ดตัวบรรจุภัณฑ์ภายนอกให้สะอาดก่อนเปิดรับประทาน
- รับประทานอาหารปรุงสุก ช่วงที่เกิดอหิวาตกโรคระบาดหรือต้องอยู่ในพื้นที่ที่เกิดโรคนั้น ควรเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ขายตามแผงลอยบนริมทางเท้า หรือหากต้องซื้อรับประทาน ควรแน่ใจว่าอาหารเหล่านั้นผ่านการปรุงสุกใหม่ ๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารดิบ ควรเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก กึ่งสุกกึ่งดิบ และอาหารดิบอย่างปลาดิบหรืออาหารทะเลอื่น ๆ
- รับประทานผลไม้ที่ปอกเปลือกเอง เลือกรับประทานผลไม้ที่ปอกเปลือกได้เองอย่างกล้วย ส้ม หรืออะโวคาโด เลี่ยงรับประทานผลไม้ที่ไม่ได้ปอกเปลือก
- ระวังผลิตภัณฑ์เนยนม ไม่ควรรับประทานอาหารที่ทำมาจากผลิตภัณฑ์เนยนมอย่างไอศกรีมหรือนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เพราะอาหารเหล่านี้มักเกิดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย
https://www.pobpad.com/อหิวาตกโรค
|