<< Go Back

1. เพื่อให้นักเรียนสามารถเตรียมสไลด์เพื่อศึกษากระบวนการ ออสโมซิส ในเซลล์พืช

2. เพื่อให้นักเรียนสามารถเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงสภาพของเซลล์เมื่ออยู่ในน้ำกับเมื่ออยู่ในสารละลายที่มีความเข้มข้นต่างกัน

3. เพื่อให้นักเรียนสามารถนำหลักการ ออสโมซิสมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป และนำหลักการดังกล่าวไปใช้ประโยชน์


1. กล้องจุลทรรศน์ 1 กล้อง

2. กระจกสไลด์ 1 กล่อง/ชั้น

3. กระจกปิดสไลด์ 1 กล่อง/ชั้น

4. บีกเกอร์ 100 cm3 1 ใบ

5. หลอดหยด 1 อัน

6. ใบมีดโกน 1 ใบ

7. ปากคีบ 1 อัน

8. กรรไกร 1 อัน

9. เข็มเขี่ย 1 อัน

10. กระดาษเยื่อ 1 ม้วน

11. สารละลายกลูโคส ความเข้มข้น 10 %

12. น้ำกลั่น 5 cm3

13. หอมแดง 1 หัว

14. ใบของพืช 1 ใบ (หัวใจม่วง หรือว่านกาบหอย)

1. ใช้เข็มหรือปลายใบมีดโกนลอกเนื้อเยื่อบางๆ ด้านในของกลีบหอมแดง หรือเยื่อบางๆ จากผิวใบด้านที่มีสีม่วงของว่านกาบหอย หรือใบของหัวใจสีม่วง
2. ตัดเนื้อเยื่อที่ลอกได้ออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้ววางลงบนหยดน้ำบนสไลด์
3. ปิดด้วยกระจกปิดสไลด์ โดยวางกระจกปิดเอียง ทำมุมประมาณ 45 องศากับสไลด์ แล้วค่อยๆ ปิดลงไปบนแผ่นสไลด์
4. นำสไลด์ไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยใช้เลนส์ใกล้วัตถุกำลังขยายต่ำ และกำลังขยายสูงตามลำดับ
5. สังเกตและบันทึกภาพเซลล์ที่สังเกต เห็นภายใต้กล้องจุลทรรศน์

ลอกเยื่อบางๆ ด้านในของ กลีบหอมแดง

หยดน้ำบนสไลด์ แล้วนำเยื่อ
ของกลีบหอมแดงมาวางลงบนหยดน้ำ

ค่อยๆ วางกระจก
ปิดสไลด์ลงบนแผ่นสไลด์


หยดสารละลายที่ด้านหนึ่งของกระจก
ปิดสไลด์ พร้อมกับใช้กระดาษเยื่อ
แตะขอบอีกด้านหนึ่ง

1. ใช้สไลด์ที่ศึกษาในตอนที่ 1 หยดสารละลายกลูโคส 10 % ลงในที่ขอบด้านหนึ่งของกระจกปิดสไลด์ ขณะเดียวกันใช้กระดาษเยื่อค่อยๆ แตะตรงขอบอีกด้านหนึ่งของกระจกปิดสไลด์เพื่อซับเอาน้ำออก นำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยใช้เลนส์ ใกล้วัตถุกำลังขยายต่ำและกำลังขยายสูงตามลำดับสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของเซลล์ แล้วบันทึกภาพ
2. เพื่อซับเอาสารละลายกลูโคสออก แล้วนำสไลด์ไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อีกครั้งหนึ่ง สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของเซลล์ แล้วบันทึกภาพ

ตอนที่ 1 ลักษณะของเซลล์เมื่ออยู่ในน้ำกลั่น เซลล์ที่อยู่ในน้ำกลั่นจะอยู่สภาพเซลล์เต่ง เยื่อหุ้มเซลล์จะแนบชิดกับผนังเซลล์ ออร์แกเนลล์ต่างๆ ในเซลล์จะอยู่ตามขอบเซลล์ เนื่องจากแวคคิวโอลมีขนาดใหญ่ขึ้น

ตอนที่ 2 ลักษณะเซลล์ที่อยู่ในสารละลายกลูโคส กับเซลล์ที่อยู่ในน้ำกลั่น ลักษณะของเซลล์ที่อยู่ในสารละลายกลูโคสต่างจากเซลล์ที่อยู่ในน้ำกลั่น คือ ออร์แกเนลล์ในเซลล์ที่อยู่ในสารละลายกลูโคส จะมารวมกันห่างจากขอบเซลล์ นั่นคือเยื่อหุ้มเซลล์จะอยู่ห่างจากผนังเซลล์ แสดงว่าเซลล์เริ่มเหี่ยวลง

ดังนั้นสามารถพิจารณาได้ว่าเมื่อเซลล์อยู่ในน้ำกลั่น ความเข้มข้นของน้ำ นอกเซลล์มากกว่าภายในเซลล์ โมเลกุลของน้ำจากภายนอกเซลล์จึงออสโมซิสเข้าสู่เซลล์ ทำให้เซลล์เต่ง ในทางตรงข้ามเมื่อเซลล์อยู่ในสารละลายกลูโคส ความเข้มข้นของน้ำภายในเซลล์มากกว่าภายนอกเซลล์ โมเลกุลของน้ำในเซลล์จึงออสโมซิสออกสู่ภายนอก เซลล์จึงเหี่ยว

สรุปได้ว่า ข้อมูลที่ได้จากกิจกรรมแสดงว่าโมเลกุลหรือไอออนของสาร ซึ่งในที่นี้หมายถึงโมเลกุลของน้ำ สามารถผ่านเยื่อหุ้มเซลล์เข้าและออกจากเซลล์ได้เมื่อเซลล์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเข้มข้นของน้ำต่างจากภายในของเซลล์

    << Go Back