การกร่อน คือ กระบวนการที่ทำให้สารเปลือกโลกหลุดออกมา การกร่อนเกิดขึ้นเนื่องจากหลายสาเหตุ ดังนี้คือ 1. กระแสน้ำ โดยกระแสน้ำจะกัดเซาะฝั่งและพัดพาตะกอนไป ถ้าพื้นท้องน้ำที่มีความชันมาก น้ำจะไหลแรง ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการกร่อนของพื้นท้องน้ำมาก และถ้าฝั่งน้ำมีความโค้ง กระแสน้ำทางด้านฝั่งแม่น้ำที่มีความโค้งมาก จะมีความเร็วมากกว่ากระแสน้ำที่ฝั่งแม่น้ำตรงข้าม จึงเป็นเหตุให้บริเวณฝั่งด้านโค้งมากเกิดการกร่อนของฝั่งแม่น้ำ และฝั่งแม่น้ำตรงข้ามตะกอนจะตกทับถม เพราะความเร็วของน้ำลดลง 2. ปฏิกิริยาเคมี ของก๊าซในบรรยากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กับน้ำฝนจะได้กรดซึ่งทำให้หินเกิดการกร่อนได้ โดยเฉพาะหินปูนจะได้แคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอนเนต เมื่อสารละลายนี้ไหลไปตามเพดานถ้ำจะสลายตัวได้ตะกอนหินปูน ทำให้เกิดหินงอกหินย้อย 3. การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ของกลางวันและกลางคืนทำให้หินยืดตัวและหดตัวไม่เท่ากัน เกิดการแตกร้าวและก่อนได้ หรือน้ำตามโพรงหินเมื่ออุณหภูมิลดลงจะกลายเป็นน้ำแข็ง ซึ่งมีปริมาตรมากขึ้นดันให้หินแตกร้าวได้ และจะเกิดการกร่อนในเวลาต่อมา 4. แรงโน้มถ่วงของโลก จะดึงดูดมวลของเปลือกโลกอยู่ตลอดเวลา ส่วนใดของเปลือกโลกไม่แข็งแรง จะแจกร้าวและร่วงหล่นสู่พื้นดินจึงเกิดการกร่อน 5. ธารน้ำแข็ง ในบริเวณที่อยู่ใกล้ขั้วโลก เมื่อธารน้ำแข็งเคลื่อนที่ลงสู่ที่ต่ำจะเสียดสีกระทบกระแทกทำให้เกิดการกร่อนตลอดเวลาทางที่ธารน้ำแข็งไหลผ่าน 6. กระแสลม จะพัดพาทรายและตะกอนฝุ่นไปขัดสีกับหินซึ่งโผล่ยื่นออกมาให้กร่อนได้ การกร่อนจะมีมากเมื่ออากาศแห้งแล้ง หรือในบริเวณทะเลทราย |