|
เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากกลีบดอกเข้ามา เจริญและเปลี่ยนแปลงมาจากเนื้อเยื่อเจริญปลายยอด (apical meristem) จึงเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการสืบพันธุ์ ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ ในพืชบางชนิดเกสรตัวผู้ผู้อาจทำหน้าที่อื่น เช่น สร้างน้ำหวานล่อแมลง หรือเป็นอาหารให้กับแมลงที่ช่วยการถ่ายละอองเรณู เกสรตัวผู้มักมีหลายอันและเรียงกันเป็นวง เรียกว่า แอนดรีเซียม (androcium) มักใช้สัญลักษณ์ว่า A เกสรตัวผู้ส่วนใหญ่แยกเป็นอันๆ แต่บางชนิดอาจติดกันได้ เรียกว่า คอนเนชัน (connation) เช่น เกสรตัวผู้ของดอกชบา พู่ระหง ฝ้าย ถั่ว แค ส้ม มะนาว แก้ว หรืออาจติดกับส่วนอื่นของดอก เรียกว่า แอดเนชัน (adnation) เช่น เกสรตัวผู้เชื่อมติดกับกลีบดอก พบในดอกพุด แพงพวย ฝรั่ง ลำโพง เข็ม ยาสูบ หรือเกสรตัวผู้ติดกับเกสรตัวเมีย พบในดอกเทียน เยาพาณี ดอกรัก เกสรตัวผู้แต่ละอันประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1. ก้านชูเกสรตัวผู้ (filament) เป็นส่วนที่มีลักษณะเป็นเส้น อาจรวมกันเป็นกลุ่มหรือแยกกัน อาจยาวหรือสั้นซึ่งก็แล้วแต่ชนิดของพืช ทำหน้าที่ชูอับเกสรตัวผู้หรืออับเรณู
2. อับเกสรตัวผู้ (anther) มีลักษณะเป็นแท่งกลมยาวหรือค่อนข้างกลม 2 พู ภายในแบ่งเป็นถุงเล็กๆ 4 ถุง เรียกว่า ถุงเรณูหรือโพรงอับเรณู (pollen sac หรือ microsporangium) บรรจุกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่า microspore mother cell ซึ่งพัฒนาต่อไปเป็นละอองเรณู (pollen grain) จำนวนมาก โดยมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆสีเหลืองๆ ผิวของละอองเรณูแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ละอองเรณูทำหน้าที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ตัวผู้ เมื่อดอกเจริญเต็มที่แล้วถุงละอองเรณูจะแตกออก ละอองเรณูก็จะปลิวออกมา เกสรตัวผู้ในพืชแต่ละชนิดมีจำนวนมากน้อยไม่เท่ากัน ในพืชโบราณหรือพืชวิวัฒนาการต่ำมักมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ส่วนพืชที่มีวิวัฒนาการสูงจำนวนเกสรตัวผู้จะน้อยลง ในพืชบางชนิด เช่น ชงโค กล้วย เกสรตัวผู้บางอันเป็นหมัน ไม่สามารถสร้างละอองเรณูได้ เรียกว่า สเตมิโนด (staminode) ในพุทธรักษา ส่วนเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันเปลี่ยนแปลงไปจนมีลักษณะคล้ายกลีบดอก มีสีสันสวยงามและเป็นแผ่นกว้าง เรียกว่า เพทะลอยด์สเตมิโนด (petaloid staminode)
ดอกชบา |
ดอกพู่ระหง |
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/library/contest2553/type2/science04/24/pages/indexada0.html
|