<< Go Back

              หมอก (อังกฤษ: fog) คือกลุ่มละอองน้ำที่ลอยตัวอยู่ในระดับต่ำเหนือพื้นดิน  ซึ่งเมฆบางครั้งก็ถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของหมอก ตัวอย่างเช่น  เมฆที่เคลื่อนตัวในอากาศระดับสูงจะไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นหมอก ขณะที่เมฆที่เคลื่อนตัวมาแบบสัมผัสกับพื้นดิน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ ที่มีความสูงขนาดหนึ่ง จะถูกพิจารณาว่าเป็นหมอกมากกว่าเมฆ ซึ่งหมอกแตกต่างจากละอองหมอก (mist) ก็เพียงเฉพาะความหนาแน่นเท่านั้น ผลกระทบของการเกิดหมอกที่เด่นชัดคือการทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง หมอกปกติทั่วไปอาจลดความสามารถในการมองเห็นน้อยกว่า 1 กิโลเมตร ส่วนละอองหมอกจะลดความสามารถในการมองเห็นให้เหลือในระยะ 1–2 กิโลเมตร มาตรฐานการบินของสหราชอาณาจักรกำหนดไว้ว่าประสิทธิภาพในการมองเห็นที่ระยะ 999 เมตรถึง 2 กิโลเมตร จะพิจารณาสภาพนั้นว่าเป็นละอองหมอก นอกจากนี้ละอองหมอกจะต้องมีระดับความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า  95  เปอร์เซ็นต์หรือสูงกว่า หากมีความชื้นสัมพัทธ์น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์เราจะพิจารณาสภาพนั้นว่าเป็นฟ้าหลัว

              สถานที่ที่ซึ่งเกิดหมอกมากที่สุดในโลกคือแกรนด์แบงค์นอกชายฝั่งของเกาะนิวฟันด์แลนด์ แคนาดา สถานที่ที่ซึ่งกระแสน้ำเย็นแลบราดอร์จากทางเหนือมาบรรจบกับกระแสน้ำอุ่นกัล์ฟสตรีมจากทางใต้ ทำให้เกิดสภาวะหมอกมากที่สุดในโลก ส่วนสถานที่บนพื้นบกที่เกิดหมอกมากที่สุดในโลกได้แก่ เมโนโมนี รัฐวิสคอนซิน, พอยน์ตเรย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย, อาร์เจนเทีย  รัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ ทั้งหมดที่กล่าวมามีวันที่หมอกหนามากกว่า 200 วันต่อปี แม้แต่ยุโรปใต้ที่มีอากาศอุ่นกว่าส่วนอื่นก็สามารถพบหมอกหนาตามพื้นที่ราบต่ำและหุบเขา เช่นที่  หุบเขาโปในอิตาลี หุบเขาตามแม่น้ำอาร์โนและแม่น้ำไทเบอร์ในอิตาลี และเช่นเดียวกับที่ราบสูงสวิสในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงและปลายฤดูหนาว

ลักษณะ

              หมอกก่อตัวขึ้นในสภาวะที่เกิดความแตกต่างกันของอุณหภูมิหรือจุดน้ำค้าง (dew point)   โดยทั่วไปในสภาพที่อุณหภูมิต่ำกว่า 2.5 องศาเซลเซียสหรือ 4 องศาฟาเรนไฮต์ หมอกเริ่มก่อตัวด้วยการที่ไอน้ำเกิดการควบแน่นในอากาศ ซึ่งไอน้ำเหล่านั้นเกิดจาการระเหยของน้ำหรือการระเหิดของน้ำแข็ง  ทำให้เกิดละอองน้ำมากมายในอากาศจนรวมตัวกันในรูปของหมอกหรือบางครั้งก็เป็นเมฆ

              หมอกโดยปกติจะเกิดเมื่อมีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับใกล้กับ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้หมอกยังสามารถก่อตัวขึ้นจากการเกิดความชื้นขึ้นมากมายในอากาศ หรืออุณหภูมิของอากาศในบริเวณโดยรอบลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งหมอกยังสามารถก่อตัวได้ในระดับความชื้นที่ต่ำกว่า การอ่านค่าความชื้นสัมพัทธ์ได้ที่ระดับ 100 เปอร์เซ็นต์หมายความว่าอากาศในบริเวณและขณะดังกล่าวไม่สามารถรองรับความชื้นได้อีกต่อไป  หากมีความชื้นเพิ่มขึ้นอีกอากาศจะเกิดการอิ่มตัวยิ่งยวด จนทำให้เกิดการควบแน่นและตกลงมาเป็นฝนในที่สุด

              การก่อตัวขึ้นของหมอกมีองค์ประกอบในการเกิดเช่นเดียวกันกับการก่อตัวของเมฆ นอกจากนี้หมอกยังสามารถเกิดขึ้น และสลายตัวไปอย่างรวดเร็วซึ่งขึ้นอยู่กับจุดน้ำค้างในอุณหภูมิขณะนั้น เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า แฟลชฟ็อก (flash fog) และการก่อตัวขึ้นโดยทั่วไปอีกหนึ่งอย่างคือด้วยการสนับสนุนจากหมอกทะเล ซึ่งนี้คือปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดของเกลือ ที่เหนือพื้นผิวมหาสมุทรอนุภาค โดยส่วนใหญ่คือเกลือจากละอองเกลือที่เกิดจากการที่คลื่นทะเลเกิดการกระจาย ยกเว้นบริเวณที่เกิดพายุ บริเวณที่เกิดการแตกกระจายของคลื่นทะเลเป็นประจำคือตามแนวริ่มชายฝั่งทะเล ฉะนั้นบริเวณที่เกิดอนุภาคเกลือในอากาศมากที่สุดก็คือบริเวณดังกล่าวนั้นเอง ส่วนการสูญสลายของอนุภาคเกลือในอากาศจะเกิดขึ้นในสภาพที่ความชิ้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นหมอกจึงยังจะสามารถก่อตัวขึ้นในสถานที่ที่มีอากาศแห้ง ๆ ได้เช่นบริเวณชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย และมีการค้นพบเร็ว ๆ นี้ว่า ส่วนประกอบที่ทำให้เกิดนิวเคลียสการสูญสลายของอนุภาคหมอก คือสาหร่ายสีน้ำตาล นักวิจัยพบว่าภายใต้ภาวะวิกฤต เช่นแสงแดดจัด อัตราการระเหยของน้ำมาก จะทำให้สาหร่ายสีน้ำตาลปลดปล่อยไอโอดีนออกมา ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นนิวเคลียสสูญสลายของไอน้ำ

              หมอกในบางครั้งทำให้เกิดหยาดน้ำฟ้าในรูปของฝนตกประปรายหรือหิมะตกประปราย ฝนตกประปรายเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหมอกมีระดับความชื้นมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ และเมื่ออนุภาคของเมฆเกิดการรวมตัวกับอนุภาคของเมฆที่ใหญ่กว่า อีกทั้งยังเกิดขึ้นเมื่อหมอกถึงยกตัวขึ้นไปในบรรยากาศที่สูงกว่าจนเย็นตัวมากเพียงพอ ซึ่งฝนตกประปรายนี้จะแข็งตัวก็ต่อเมื่ออุณหภูมิในบริเวณและขณะดังกล่าวลดลงถึงจุดเยือกแข็ง    ส่วนความหนาของหมอกขึ้นอยู่กับระดับความสูงและสภาพอากาศในขณะนั้น ซึ่งหากบรรยากาศด้านบนมีความกดอากาศต่ำก็สามารถจะทำให้หมอกขยายตัวออกได้

หมอกอันทำให้เกิดความอันตราย

              หมอกเป็นตัวการสำคัญตัวหนึ่งในการลดประสิทธิภาพการมองเห็น ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในทางคมนาคมเช่น เรือ เครื่องบินรถไฟ และรถยนต์   โดยส่วนมากหมอกทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะ  ไม่สามารถมองเห็นซึ่งกันและกันทำให้เกิดการชนหรือปะทะขึ้น อุบัติเหตุอันมีสาเหตุมาจากหมอกหรือทัศนวิสัยไม่ดี  เช่น 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 เครื่องบินรุ่น บี-25 มิตเชลล์ พุ่งชนเข้ากับตึกเอ็มไพร์สเตตเพราะหมอกลงจัด 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1956 เกิดการชนปะทะกันของเรือเดินสมุทร เอสเอสแอนเดรียโดเรีย กับ เอ็มเอสสตอกโฮล์ม  ซึ่งแม้ว่าเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่จะสามารถทราบตำแหน่งของหมอกได้จากเรดาร์   รถยนต์เองก็มีไฟตัดหมอกเพื่อให้เห็นทางและขับเคลื่อนไปอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะบนทางหลวงหรือทางด่วนที่มียานพาหนะมากมายและส่วนใหญ่ก็ใช้ความเร็วสูง เมื่อมีหมอกลงจัดจนไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วผู้ขับขี่อาจจะพบกับอุบัติเหตุแบบฉับพลัน ซึ่งพาหนะที่ตามมาก็เช่นกันทำให้เกิดการชนกันไปเป็นทอด ๆ เช่นที่เกิดกับทางหลวงพิเศษระหว่างรัฐหมายเลข 4 เมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 2008 ซึ่งทำให้มีรถชนกันถึง 70 คัน

              หมอกมักจะเป็นอันตรายอันดับต้น ๆ ในทางการบิน และมักเป็นอุปสรรคในการลงจอดและบินขึ้นของเครื่องบิน ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษและจากระบบอุปกรณ์ช่วยในการลงจอด โดยเฉพาะดวงไฟตามแนวรันเวย์ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงตำแหน่งของรันเวย์ทำให้นักบินสามารถประเมินสภาพแวดล้อมในการลงจอดได้

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/หมอก

<< Go Back