ปุ๋ย เป็นวัสดุที่ให้สารอาหารกับพืช หรือ ช่วยปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก พืชต้องการธาตุอาหาร 16 ชนิด ได้แก่ ออกซิเจน ไฮโดรเจน คาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี แมงกานีส ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม และคลอรีน ในจำนวนนี้ ออกซิเจน ไฮโดรเจน คาร์บอน พืชได้รับจากน้ำและอากาศ ส่วนไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม พืชต้องการในปริมาณมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่นๆ (ซึ่งถูกจัดเป็นธาตุอาหารหลักหรือธาตุปุ๋ย) และในดินมักมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมธาตุเหล่านี้โดยการให้ปุ๋ย
ปุ๋ยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ
1. ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยที่เป็นอนินทรียสาร อาจเป็นปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสม และปุ๋ยเชิงประกอบ ตัวอย่างปุ๋ยเคมีเช่น ยูเรีย, ปุ๋ยเม็ด 16-20-0 แต่ไม่รวมถึงสารที่ใช้สำหรับปรับปรุงดิน เช่น ซีโอไลต์, ภูไมท์ และ สารต่างๆ ที่มีคุณสมบัติโครงสร้างทางฟิสิกส์ของดินให้ดีขึ้น ปุ๋ยเคมีแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.1 ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย คือ ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักพืช คือ N P K เป็นส่วนประกอบของปริมาณธาตุอาหารจะคงที่
1.2 ปุ๋ยผสม คือ ปุ๋ยที่ได้จากการเอาแม่ปุ๋ยหลายๆ ชนิด มารวมกันเพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารหลักของปุ๋ยตามต้องการเพื่อให้เหมาะตามสภาพดินในแต่ละพื้นที่
2. ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้มาจากสารประกอบทางธรรมชาติ ธาตุอาหารที่ได้ส่วนใหญ่ต้องเกิดจากการย่อยสลายจากจุลินทรีย์ก่อน เป็นกระบวนการผลิตสารอาหารจากธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่มักจะใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพดิน แบ่งชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ได้ 3 ประเภท คือ
2.1 ปุ๋ยหมัก คือ ปุ๋ยที่เกิดจากเศษพืชต่างๆ เช่น หญ้าและใบไม้ ต้นถั่ว ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด เปลือกถั่วต่างๆ ใบจามจุรี ฟางข้าว ผักตบชวา เมื่อนำมากองหมักไว้จนเน่าเปื่อยก็ใช้เป็นหมักได้
2.2 ปุ๋ยคอก คือ ปุ๋ยที่ได้จากสิ่งที่สัตว์ขับถ่ายออกมา เช่น อุจาจาระ ปัสสาวะของสัตว์ต่างๆ ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ในการปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน ช่วยลดอัตราการพังทลายของดิน เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน เป็นต้น
2.3 ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยที่ได้จากการปลูกพืชบำรุงดิน เช่น พวกพืชตระกูลถั่ว เมื่อพืชเจริญเติบโตถึงระยะหนึ่ง เราก็ไถกลบในขณะที่พืชยังเขียวและสดอยู่ ซึ่งมักจะไถกลบในช่วงที่พืชกำลังออกดอก เพราะเป็นช่วงที่เหมาะสมแก่การให้ธาตุอาหารแก่พืชมากที่สุด
3. ปุ๋ยชีวภาพ คือ การนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิตมาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหาร หรือเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดิน ปุ๋ยชีวภาพอาจมีบทบาทในการปรับปรุงบำรุงดินทางชีวภาพ ทางกายภาพ และทางชีวเคมี และปุ๋ยชีวภาพยังหมายความรวมถึงหัวเชื้อจุลินทรีย์
4. ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ คือ การนำข้อดีของปุ๋ย 2 ชนิด มาผสมกัน โดยนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการควมคุมคุณภาพการผลิต โดยนำปุ๋ยอินทรีย์และแร่ธาตุต่างๆ เช่น คีเลต ธาตุอาหารเสริม สารบำรุงดินมาผ่านการฆ่าเชื้อและเพาะเชื้อจุลินทรีที่เหมาะสม นำมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์และหมักเพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่ผสมลงไปจนถึงระยะเวลาที่พอเหมาะจึงสามารถนำไปใช้งานได้ เป็นปุ๋ยที่เหมาะแก่การทำเกษตรอินทรีย์
https://th.wikipedia.org/wiki/ปุ๋ย
|