<< Go Back

            คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) คือ รงควัตถุที่มีขนาดเล็กมากและเป็นสารประกอบที่มีสีเขียว สามารถพบได้ในส่วนที่มีสีเขียวของพืช, ในสาหร่ายทุกชนิด และในแบคทีเรียบางชนิด คลอโรฟิลล์(Chlorophyll)เป็นโมเลกุลที่รับพลังงานจากแสงมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง เพื่อที่จะสร้างสารอินทรีย์ เช่น น้ำตาล จะได้นำไปใช้ในการดำรงชีวิต

            คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) อยู่ภายในโครงสร้างที่ชื่อว่า เยื่อหุ้มไทลาคอยล์ (Thylakoid Membrane) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มที่อยู่ภายในออร์แกเนลล์ (Organelle)ที่ชื่อว่า คลอโรพลาสต์ (Chloroplast)

            คลอโรฟิลล์(Chlorophyll) สามารถดูดกลืนแสงได้ดีที่ในช่วงคลื่นแสงสีฟ้าและแสงสีแดง แต่สามารถดูดกลืนช่วงคลื่นแสงสีเหลืองและแสงสีเขียวได้น้อย ดังนั้นเมื่อได้รับแสงจะดูดกลืนแสงสีฟ้าและสีแดงเอาไว้ ส่วนแสงสีเขียวที่ไม่ได้ถูกดูดกลืนจึงได้สะท้อนออกมาเป็นแสงสีเขียว ทำให้เราเห็นคลอโรฟิลล์(Chlorophyll)เป็นสีเขียว
            คลอโรฟิลล์(Chlorophyll)  ที่อยู่ในธรรมชาติมีอยู่หลายชนิดด้วยกันซึ่งจะมีโครงสร้างของโมเลกุลหลักที่เหมือนกัน คือ มีวงแหวนไพรอล 4 วง แต่คลอโรฟิลล์(Chlorophyll)แต่ละชนิดจะมีลักษณะโมเลกุลของโซ่ข้าง (Side Chain)ที่แตกต่างกันไป เช่น ความแตกต่างระหว่างคลอโรฟิลล์ เอ (Chlorophyll a) และคลอโรฟิลล์ บี (Chlorophyll b) คือ ที่วงแหวนไพรอล วงที่สองของคลอโรฟิลล์ เอ(Chlorophyll a) มีโซ่ข้างเป็นหมู่เมททิล (-CH3) ส่วนของคลอโรฟิลล์ บี(Chlorophyll b) เป็นหมู่อัลดีไฮด์ (-CHO)

            การที่โครงสร้างโมเลกุลคลอโรฟิลล์ เอ (Chlorophyll a) และคลอโรฟิลล์ บี (Chlorophyll b)แตกต่างกัน ทำให้คุณสมบัติในการดูดกลืนแสงก็ต่างกันด้วย จึงทำให้คลอโรฟิลล์ เอ (Chlorophyll a) และคลอโรฟิลล์ บี (Chlorophyll b) มีสีต่างกันเล็กน้อย โดยที่คลอโรฟิลล์ เอ (Chlorophyll a) จะมีสีเขียวเข้ม ส่วนคลอโรฟิลล์ บี (Chlorophyll b)มีสีเขียวอ่อน

 

                  http://www.thaibiotech.info/what-is-chlorophyll.php

<< Go Back