ทรัพยากร
ทรัพยากรในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง สิ่งที่นำมาผลิตเป็นสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ทรัพยากรมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ แต่ทรัพยากรเป็นสิ่งที่มีอยู่จำกัด ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีขีดจำกัดได้ จึงจำเป็นต้องมีหลักการและวิธีใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดการสูญเสียในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
หลักการใช้ทรัพยากร มีดังนี้
1. ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุดโดยใช้อย่างประหยัดที่สุด มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนมาก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ทำให้ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรลง เช่น อ่างเก็บน้ำ นอกจากจะใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการชลประทานแล้วยังใช้ประโยชน์ในการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ การคมนาคมขนส่ง และการนันทนาการอีกด้วย
2. การนำกลับมาใช้ใหม่ ทรัพยากรหลายชนิด เมื่อใช้ไปจนหมดสภาพแล้ว สามารถนำกลับมาถลุง หลอม หรือเปลี่ยนสภาพ เพื่อนำมาผลิตเป็นของใหม่ได้ เช่น การนำเศษเหล็ก เศษกระดาษ สังกะสี อะลูมิเนียม ทองแดง พลาสติก มาเข้ากระบวนการผลิตใหญ่ ให้เป็นของใหม่ ซึ่งอาจเหมือนเดิมหรือไม่เหมือนเดิม
3. การบูรณะฟื้นฟูความเสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติบางชนิด เช่น ป่าไม้ ดิน น้ำ ถ้าได้รับความเสียหายหรือเกิดสภาพเสื่อมโทรมแล้ว สามารถบูรณะฟื้นฟูให้คืนสภาพเดิมหรือเกือบคงเดิมได้ เช่น ดินที่ปลูกพืชไปนาน ๆ คุณภาพของดินจะเสื่อมลง การฟื้นฟูสภาพดินทำได้โดยการเติมปูนขาว ใส่ปุ๋ยคอก ปลูกพืชคลุมดิน เป็นต้น
4. การหาสิ่งอื่นมาทดแทน ทรัพยากรบางชนิดหายากหรือมีน้อยควรหาสิ่งที่มีอยู่มากมาใช้ทดแทนเป็นการลดการสูญเสียทรัพยากรที่หายาก เช่น การประหยัดการใช้เหล็กโดยการนำพลาสติกแข็งมาใช้แทน การประหยัดไม้โดยสังเคราะห์วัสดุอื่นมาใช้แทน
5. การเสาะแสวงหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มเติม เนื่องจากใต้ผิวโลก ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่อีก การสำรวจค้นหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มเติม ทำให้มีปริมาณทรัพยากรธรรมชาติไว้ใช้เพิ่มขึ้น
6. การลดอันตรายจากสารพิษ สารพิษเมื่อนำไปทิ้ง จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ดังนั้นก่อนทิ้งสารพิษควรบำบัดหรือทำให้สารพิษมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดน
การสร้างจิตสำนึกให้คนในชาติรู้คุณค่าของทรัพยากร
1. ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรที่ถูกต้องให้กับทุกคนในทุกระดับ
2. รณรงค์ให้ทุกคนเห็นคุณค่าของทรัพยากรและร่วมมือกันดูแลรักษาอย่างยั่งยืน
3. สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรของชาติ
4. ศึกษาค้นคว้าและติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อ
5. กำหนดแนวทางในการดูแลทรัพยากรอย่างเป็นระบบ และกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง
6. ส่งเสริมการรวมกลุ่มในท้องถิ่นเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรร่วมกัน 7. ปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจ และรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด
8. ยกย่องผู้ที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้เป็นแบบอย่างที่ดี
9. สนับสนุนภาครัฐให้เข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาทรัพยากรของชาติ
http://abcdef.nsru.ac.th/scap0103.html
|