|
ภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ โดยอาจเกิดจากมีความผิดปกติของโครงสร้าง หรือการทำหน้าที่ของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายหรือรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ
ชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถแบ่งได้หลายชนิด แต่หากใช้การแบ่งตามระยะเวลาที่มีอาการสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
-
ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute heart failure) เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอาการเกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอาการคงที่แต่กลับแย่ลงในเวลาไม่นาน
-
ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ( chronic heart failure) พบได้ในผู้ป่วยที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลว เฉียบพลันมาก่อนหรือไม่ก็ได้ แต่ในขณะที่ทำการวินิจฉัยผู้ป่วยมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวและ/หรือมีการทำงานที่ผิดปกติไปของหัวใจคงอยู่เป็นเวลานาน
อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลวทำให้เกิดอาการหรืออาการแสดงที่เกิดจากการที่เลือดออกจากหัวใจไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และอาการที่เกิดจากภาวะคั่งของน้ำและเกลือ อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
-
อาการหายใจเหนื่อย เป็นอาการสำคัญของภาวะหัวใจล้มเหลว โดยอาจมีอาการเหนื่อยในขณะที่ออกแรง อาการเหนื่อย/หายใจไม่สะดวกในขณะนอนราบ บางครั้งจะมีอาการไอในขณะนอนราบด้วย หรือในขณะนอนหลับต้องตื่นขึ้น เนื่องจากมีอาการหายใจไม่สะดวก ซึ่งเป็นอาการจำเพาะสำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว
-
อ่อนเพลีย เกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายลดลง ทำให้ความสามารถในการทนต่อการทำกิจกรรม หรือความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของร่างกายลดลง
-
มีอาการบวมจากภาวะคั่งน้ำและเกลือ เช่น ที่เท้าและขามีลักษณะบวม กดบุ๋ม มีน้ำคั่งในปอดและอวัยวะภายใน เช่น มีตับ ม้ามโต มีน้ำในช่องท้อง ทำให้มีอาการท้องบวม ท้องโตขึ้น แน่นอึดอัด
ปัจจัยที่อาจทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลวแย่ลง
- สาเหตุจากหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้าเกินไป กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น
-
สาเหตุอื่นๆ เช่น ขาดการควบคุมและดูแลในเรื่องเกลือ น้ำ และยา ได้รับยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อหัวใจ ภาวะติดเชื้อ การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินควร การทำงานของไตผิดปกติ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะโลหิตจาง
-
รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ
-
รับประทานยาที่ทำให้น้ำและเกลือคั่ง หรือยาที่กดการทำงานของหัวใจ รับประทานอาหารเค็มเกินไป
แนวทางการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวจะต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว ความรุนแรงของโรค ระยะของโรค โรคอื่นๆ ที่พบร่วม เป็นต้น โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย การรักษามีเป้าหมายเพื่อลดอาการของผู้ป่วยและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตโดยเน้นที่การยับยั้ง หรือชะลอการเกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินโรค เช่น
-
การรักษาด้วยยา เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ ยากลุ่มลดการกระตุ้นระบบนิวโรฮอร์โมน ยาขยายหลอดเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
-
การใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจถาวรชนิดที่ทำให้หัวใจห้องล่างซ้าย และขวาบีบตัวพร้อมกัน ร่วมหรือไม่ร่วมกับเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย
-
การผ่าตัดใส่เครื่องช่วยการสูบฉีดเลือดของหัวใจ
-
การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจรั่ว
การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
-
เรียนรู้อาการต่างๆ ของภาวะคั่งน้ำและเกลือ ได้แก่ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น บวม เหนื่อย นอนราบไม่ได้หรือต้องลุกขึ้นมานั่งหอบตอนกลางคืน หากมีอาการต้องแจ้งแพทย์และพยาบาลที่ให้การดูแลรักษา
-
ชั่งน้ำหนักตัวเองและบันทึกทุกวันหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้งในตอนเช้า ภายหลังเข้าห้องน้ำขับถ่ายแล้ว และต้องชั่ง ก่อนรับประทานอาหารเช้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวมากกว่า 1 กิโลกรัมจากเดิมภายใน 1-2 วัน (หรือ 2 กิโลกรัมภายใน 3 วัน) แสดงถึงภาวะคั่งน้ำและเกลือแล้ว
-
จำกัดการรับประทานเกลือโซเดียม (2-3 กรัมต่อวัน) ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม อาหารกระป๋อง และของหมักดอง และไม่เติม เกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊วลงไปเพิ่ม ควรจำกัดปริมาณน้ำดื่มตามแผนการรักษา
-
ในกรณีที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนัก เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น กรณีที่มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อึดอัดแน่นท้อง มีน้ำหนักลดมากกว่า 5 กิโลกรัมในเวลา 6 เดือนหรือ BMI น้อยกว่า 22 กิโลกรัม/ตารางเมตร ควรรับประทานอาหารย่อยง่ายครั้งละไม่มากแต่บ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดสารอาหาร
-
งดสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 1-2 แก้วต่อวัน หรืองดอย่างเด็ดขาด เนื่องจากแอลกอฮอล์ มีผลกดการทำงานของหัวใจ และทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม
-
หมั่นออกกำลังกายที่พอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ คือ การเดินบนทางราบ โดยเริ่มทีละน้อยๆ จาก 2-5 นาทีต่อวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วเพิ่มเป็น 5-10 นาทีต่อวัน หรือเข้าสู่โปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจด้วยการออกกำลังกาย หากมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สุขสบายควรงดออกกำลังกาย
-
สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หากเดินขึ้นบันได 1 ชั้น (8-10 ขั้น) ได้โดยไม่มีอาการหอบเหนื่อยหรือหยุดเดินกลางคัน เนื่องจากอาจมีอาการทรุดหนักลงได้หลังมีเพศสัมพันธ์
-
รับประทานยารักษาอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติใดๆ ที่เป็นอาการข้างเคียงของยาต้องปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดรับประทานยาทุกครั้ง หากซื้อยารับประทานจากร้านยาต้องปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงของยาต่อหัวใจ ไต หรือปฏิกิริยาร่วมกับยาอื่นที่ใช้รักษาอยู่
-
ลดความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ออกกำลังกายที่พอเหมาะ การทำสมาธิ
-
หลีกเลี่ยงการเดินทางไกลที่ต้องนั่งเป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยไม่ควรเดินทางคนเดียว หากภาวะหัวใจล้มเหลวมีอาการแย่ลงมาก ไม่ควรเดินทางโดยสารเครื่องบิน
-
ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีในกรณีไม่มีข้อห้าม
-
มาตรวจและพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
https://www.bumrungrad.com/th/heart-cardiology-center-treatment-surgery-bangkok-thailand/conditions/congestive-heart-failure
|