<< Go Back

การทำงานกับคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการใดก็ตาม  สิ่งที่เราต้องทำงานด้วยอยู่เป็นประจำก็คือ ข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ในรูปของไฟล์ และโฟลเดอร์ เราจึงควรทำความเข้าใจเรื่องการจัดการกับไฟล์เหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งใน Windows 8 จะเป็นการจัดการไฟล์ และโฟลเดอร์ด้วย Windows Explorer รูปแบบใหม่ ที่ใช้ Libraries มาช่วยจัดระเบียบ และเพิ่มความสะดวกในการจัดการและใช้งานข้อมูลต่างๆ

หน่วยย่อยที่สุดในการเก็บข้อมูลของ Windows ก็คือ “ไฟล์ (File)” หรือ แฟ้มข้อมูลที่ใช้เก็บสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม หรือ ข้อมูลเอกสาร โดยแต่ละไฟล์จะมีรูปสัญลักษณ์ประจำเฉพาะพร้อมกับชื่อกำกับ เรียกว่า “ไอคอน (icon)”  และการที่ในเครื่องคอมพิวเตอร์มีไฟล์ต่างกันเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการแบ่งแยกให้เป็นหมวดหมู่ไม่ปะปนกัน  โดยแบ่งพื้นที่ในดิสก์ให้เป็นส่วนๆ เรียกว่า “โฟลเดอร์ (Folder)” ที่ใช้เก็บข้อมูลต่างๆ และในแต่ละโฟลเดอร์ยังอาจแบ่งเป็น “โฟลเดอร์ย่อย (Subfolder)” ลงไปได้อีกหลายๆชั้น อย่างไม่จำกัด เรียกว่าเป็นโฟลเดอร์ซ้อนโฟลเดอร์

ไฟล์ (File)  คือ การเก็บชุดข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งไฟล์แต่ละไฟล์จะมีไอคอนที่ต่างกันขึ้นอยู่กับชนิด หรือ โปรแกรมที่เปิดใช้ โดยมีการกำหนดชื่อให้กับข้อมูลชุดนั้น (File Name) เพื่อให้สามารถเรียกใช้งานได้ถูกต้อง ไม่สับสนกับไฟล์อื่นๆ

ไฟล์ในคอมพิวเตอร์อาจมีมากมายหลายประเภท แต่มีไฟล์อยู่ 2 ประเภท ที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้งาน Windows 8 อยู่เสมอ คือ   ไฟล์ข้อมูลและไฟล์โปรแกรม
ในบทที่แล้ว ผู้เรียนได้บันทึกเอกสารที่สร้างขึ้นมาด้วยโปรแกรม Notepad และ WordPad ลงเป็นไฟล์เพื่อเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไป เราเรียกไฟล์ชนิดนี้ว่า “ไฟล์ข้อมูล (Data File)”   ดังนั้นไฟล์ข้อมูล ก็คือ ไฟล์ที่ใช้เก็บข้อมูลนั่นเอง
โปรแกรมต่างๆที่เราเปิดขึ้นมาทำงานก็ถูกเก็บไว้ในรูปของไฟล์เช่นกัน เช่น ไฟล์ของโปรแกรม Notepad มีชื่อว่า Notepad.exe เป็นต้น เราเรียกไฟล์ที่ใช้เก็บโปรแกรมเหล่านี้ว่า  “ไฟล์โปรแกรม 
 (Execute File)”

ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์จะเก็บไฟล์ไว้นับพันนับหมื่นไฟล์ โดยที่ไฟล์แต่ละไฟล์จะทำหน้าที่แตกต่างกัน การนำไฟล์ที่มีหน้าที่แตกต่างกันมาเก็บไว้ในที่แห่งเดียวกันย่อมก่อให้เกิดความสับสนเป็นอย่างมาก เราจึงต้องมีเทคนิคในการแบ่งแยกให้ไฟล์ประเภทเดียวกันให้อยู่ในที่แห่งเดียวกัน เรียกว่า “โฟลเดอร์ (Folder)”

การตั้งชื่อของไฟล์และโฟลเดอร์ มีหลักเกณฑ์เหมือนกันดังนี้

  • มีความยาวไม่เกิน 255 ตัวอักษร
  • ใช้สัญลักษณ์ใดก็ได้รวมทั้งช่องว่าง แต่ยกเว้นสัญลักษณ์ \ / : * ? ” < > |
  • ไม่จำเป็นต้องมีนามสกุล (ส่วนขยาย) ยกตัวอย่างเช่น ไฟล์ภาพแบบ Bitmap ไม่จำเป็นต้องมี .bmp ต่อท้าย

การตั้งชื่อไฟล์ควรตั้งให้สื่อความหมายชัดเจน และเกี่ยวข้องกับเนื้อความในไฟล์ โดยใช้คำที่ไม่กำกวมสามารถค้นหาภายหลังได้ง่าย และไม่ควรนำชื่อตนเองมาตั้งชื่อไฟล์ เพราะเมื่อไฟล์มีจำนวนมากขึ้นแล้วจะไม่สามารถค้นหาไฟล์ที่ต้องการใช้งานได้

ไฟล์ในคอมพิวเตอร์มีมากมายหลายประเภท Windows จึงมีวิธีการในการระบุประเภทของไฟล์โดย การใส่นามสกุลให้กับไฟล์เหล่านั้น เช่น ไฟล์ที่สร้างด้วยโปรแกรม Notepad จะมีนามสกุลเป็น  .txt
เรานิยมใส่จุด (.) คั่นระหว่างชื่อและนามสกุลของไฟล์ ดังนั้นจึงพบว่าไฟล์ที่สร้างด้วยโปรแกรม Notepad จะถูกตั้งชื่อไว้ในรูปของ “ชื่อไฟล์ .txt” และไฟล์โปรแกรมส่วนใหญ่จะมีรูปแบบเป็น
 “ ชื่อไฟล์ .exe ” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เปิด (Open) ไฟล์ขึ้นมาใช้งานนั้น จะไม่พบส่วนขยายของไฟล์เนื่องจาก  Windows  จะไม่แสดงส่วนขยายของไฟล์ แต่จะแสดงชนิดของไฟล์โดยอาศัยภาพสื่อความหมายที่เรียกว่าไอคอน (Icon) แทน ดังตัวอย่างในภาพด้านล่าง

สัญญาณไฟฟ้าที่ใช้ในคอมพิวเตอร์เรียกว่า ดิจิตอล(Digital) สัญญาณดิจิตอลสื่อสารโดยการส่งเลข 0 และ 1 เราเรียกหนึ่งสัญญาณที่ส่งนี้ว่า 1 บิต (Bit)
ไฟล์ที่เซฟลงในคอมพิวเตอร์ก็จะถูกเก็บไว้ในลักษณะของบิตเช่นเดียวกัน เช่นการที่เซฟตัวอักษร“A” ลงในคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จะใช้เนื้อที่ 8 บิตในการเก็บ ดังนั้นถ้าต้องการเซฟคำว่า “Hello” คอมพิวเตอร์จะต้องใช้เนื้อที่ 40 บิต ในการเก็บ
อักษรแต่ละตัวจะต้องใช้เนื้อที่ 8 บิต เสมอ เราจึงนิยมใช้คำว่าไบต์ (Byte) เรียกข้อมูลขนาด 8 บิต เช่น การเซฟประโยค “Hello” ที่ใช้เนื้อที่ 40 บิต ก็คือการใช้เนื้อที่ ในการเก็บ 5 ไบต์ นั่นเอง

ไฟล์คอมพิวเตอร์โดยทั่วไปมักมีขนาดใหญ่มาก และไฟล์โปรแกรมบางไฟล์อาจจะมีขนาดหลายล้านไบต์ ตัวเลขที่มากขนาดนี้ย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวก ดังนั้นจึงนิยมนำคำอุปสรรคของหน่วย SI มานำหน้าไบต์ เพื่อช่วยให้สามารถเรียกขนาดได้สะดวกขึ้น   ดังนี้
                1,024  byte                           เท่ากับ                                    1 Kilobyte            (กิโลไบต์)
                1,024   Kilobyte                   เท่ากับ                                    1 Megabyte         (เมกกะไบต์)
                1,024   Megabyte                เท่ากับ                                    1 Gigabyte           (กิ๊กกะไบต์)
                1,024   Gigabyte                  เท่ากับ                                    1 Terabyte            (เทราไบต์)

<< Go Back